วิศวกรรมเทคนิคงานก่อสร้าง

วิศวกรรมเทคนิคงานก่อสร้าง (CONSTRUCTION TECHNIQUE ENGINEERING หรือ CTE)

micropile เสาเข็มไมโครไพล์ เสาเข็มสปันไมโครไพล์ 16-03

หัวข้อในวันนี้จะเกี่ยวข้องกันกับหัวข้อ วิศวกรรมเทคนิคงานก่อสร้าง (CONSTRUCTION TECHNIQUE ENGINEERING หรือ CTE) นะครับ

ในวันนี้ผมจะขออนุญาตมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้ทราบถึงเรื่องข้อกำหนดในการทำงานก่อสร้างอย่างหนึ่งที่เรามิควรละเลยและจำเป็นอย่างมากที่ควรจะต้องปฏิบัติสำหรับการทำงานก่อสร้าง เรื่องนี้ก็คือ การทำโครงสร้าง “เสาเอ็น” และ “ทับหลัง” ในผนังที่เราทำการก่อที่หน้างานนั่นเองนะครับ

โดยทั่วไปแล้วในงานก่อสร้างหนึ่งๆ มักจะมีข้อกำหนดให้ผู้ทำการก่อสร้างนั้นทำตามมาตรฐานที่ได้มีการกำหนดเอาไว้นะครับ โดยที่หน้าที่หลักๆ ของ “เสาเอ็น” คือ จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของผนังที่ใช้ยึดผนังตามแนวดิ่ง ส่วนบทบาทหน้าที่ของ “ทับหลัง” คือ จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของผนังที่ใช้ยึดผนังในแนวราบ ทั้งเสาเอ็นและคานทับหลังมีหน้าที่ช่วยโยงยึดผนังก่อ เช่น อิฐมอญ อิฐบล็อก คอนกรีตมวลเบา เป็นต้น เข้ากันกับ พื้น คาน หรือเสาโครงสร้างของอาคาร เพื่อช่วยให้ผนังมีความแข็งแรง การช่วยยึดโยงผนังก่อกับโครงสร้างหลักของอาคาร และ จะช่วยลดระยะช่วงของผนังก่อด้วย เช่น ผนังก่อสูง 4 M เราจะต้องทำทับหลังที่ความสูง 2 M ซึ่งจะทำให้ช่วงความสูงของผนังก่อนั้นมีค่าลดลง ความแข็งแรงก็จะมีมากขึ้นด้วยนะครับ เป็นต้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้ผนังมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และ ในส่วนงานโครงสร้างอาคารเองการโยงยึดของผนังเหล่านี้ก็ช่วยทำให้โครงสร้างของอาคารนั้นมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เพราะ ส่วนผนังนี้ก็จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวค้ำยันย่อยของแต่ละชิ้นส่วนโครงสร้างหลักอาคารนั่นเองนะครับ โดยการทำเสาเอ็นและทับหลังนั้นเรานิยมที่จะใช้เหล็กเส้นกลม (ROUND BAR) ขนาด 6 MM ถึง 9 MM จำนวน 2 เส้น วางห่างกันทุกๆ ระยะประมาณ 20 CM ถึง 30 CM เสียบเป็นเหล็กหนวดกุ้ง (DOWEL BAR) โดยที่เหล็กที่เสียบอยู่ในเสานั้นจะต้องทำการยึดแน่นโดยเมื่อออกแรงดึงแล้วจะไม่หลุดออกมา ซึ่งเรามักใช้สารเคมีจำพวก EPOXY ที่หาซื้อได้ตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วๆ ไปได้นะครับ

สำหรับตำแหน่งที่ควรต้องทำ “เสาเอ็น” คือ บริเวณมุมผนังทุกมุม หรือ ผนังที่ก่อหยุดลอยๆ โดยที่ไม่ติดกับโครงสร้างเสาของอาคาร หรือ ตรงบริเวณที่ผนังก่อติดกับวงกบประตูหน้าต่าง ในกรณีที่ผนังก่ออิฐนั้นกว้างเกินกว่า 3 M จะต้องมีเสาเอ็นทำหน้าที่แบ่งครึ่งช่วงความสูงตลอดความสูงของผนังนะครับ สำหรับตำแหน่งที่ควรต้องทำ “ทับหลัง” คือ ผนังอิฐก่อที่ก่อสูงไม่ถึงระดับของท้องพื้น หรือ คาน หรือ ผนังที่ก่อชนใต้วงกบหน้าต่าง หรือ เหนือวงกบประตูหน้าต่างที่ก่อผนังทับด้านบน ในกรณีของผนังก่อที่มีความสูงเกินกว่า 3 M จะต้องมีคานทับหลัง และ ระยะระหว่างคานทับหลังจะต้องไม่เกิน 3 M การหล่อคานทับหลังจะต้องล้วงเหล็กฝากจากเสาเอ็นด้วย เพื่อที่จะสามารถถ่ายเทน้ำหนักจากคานทับหลังให้สามารถไปสู่เสาเอ็นได้นะครับ

โดยที่ขนาดของ ช่องว่าง และ ความจำเป็น ในการที่จะต้องทำการก่อสร้าง เสาเอ็น และ ทับหลัง ของอิฐก่อแต่ละประเภทนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยที่จะขึ้นอยู่กับ “ความแข็งแรง” ของวัสดุอิฐก่อนั่นเองนะครับ เช่น หากว่าเมื่อช่วงของผนังก่ออิฐนั้นมีระยะที่เท่าๆ กัน หากต้องทำการก่อด้วย อิฐมอญ ซึ่งมีค่าความความสามารถในการรับกำลังอัดที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันกับ อิฐมวลเบา ก็จะมีความจำเป็นที่เราควรจะต้องทำการก่อสร้าง เสาเอ็น และ ทับหลัง ที่แตกต่างกันออกไป เป็นต้นนะครับ

ผมต้องขอขอบคุณรูปภาพที่ใช้ประกอบการโพสต์จากทาง SCG EXPERIENCE ด้วยนะครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ