สวัสดีครับเพื่อนๆ ที่รักทุกท่าน
มาต่อจากเนื้อหาเมื่อวันก่อนที่ผมได้อธิบายไปถึงประเภทของแรงเค้นกันต่อนะครับ โดยหากจำแนกประเภทของแรงกระทำหลักๆ ที่กระทำต่อหน้าตัดของโครงสร้างจะพบว่าประกอบด้วย
(1) NORMAL FORCE (N)
(2) SHEAR FORCE (V)
(3) BENDING FORCE (M)
(4) TORSIONAL FORCE (T)
(5) THERMAL CHANGE (Δt)
เนื่องจาก นน บรรทุกประเภทข้างต้นจะทำให้เกิดผลตอบสนองในแง่ของแรงเค้นที่แตกต่างกันได้ แต่ เมื่อทำการจำแนกประเภทของผลตอบสนองในรูปแบบของแรงเค้นที่แตกต่างกันเหล่านี้แล้วก็จะพบว่ามีแรงเค้นเหลือเพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้นครับ คือ
(1) แรงเค้นตามทิศที่ตั้งฉากกับหน้าตัด หรือ แรงเค้นตามแนวแกน (NORMAL STRESS)
(2) แรงเค้นตามทิศที่ขนานกับหน้าตัด หรือ แรงเค้นเฉือน (SHEAR STRESS)
วันนี้เราจะมาดูแรงที่ทำให้เกิดแรงเค้นตามทิศที่ตั้งฉากกับหน้าตัด หรือ แรงเค้นตามแนวแกน (NORMAL STRESS) กันก่อนนะครับ (ดูรูปที่แนบมานะครับ)
จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นแรงตามแนวแกน แรงโมเมนต์ดัดรอบแกน หรือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิก็แล้วแต่ ต่างก็ทำให้เกิดแรงเค้นตามทิศที่ตั้งฉากกับหน้าตัดทั้งสิ้น จะแตกต่างกันเฉพาะทิศทางของแรงเค้นเท่านั้น เช่น เป็นแรงเค้นดึง เมื่อแรงตามแนวแกนเป็นแรงดึง และ/หรือ ที่ขอบด้านล่างของหน้าตัดเมื่อแรงดัดทำให้คานโก่งตัวลง และ/หรือ ที่ขอบด้านบนของหน้าตัดเมื่อแรงดัดทำให้คานโก่งตัวขึ้น และ/หรือ เมื่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมีลักษณะค่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น (ความร้อนเพิ่มสูงขึ้น) เป็นต้น ที่ผมต้องใช้เครื่องหมาย และ/หรือ เพราะว่ามีโอกาสความน่าจะเป็นที่ค่าแรงเค้นเหล่านี้จะเกิดพร้อมกันได้เนื่องจากการรวมแรงต่างๆ เข้าด้วยกันนั่นเองครับ
ไว้วันพรู่งนี้ผมจะมายก ตย ถึงแรงที่จะทำให้หน้าตัดเกิดแรงเค้นตามทิศที่ขนานกับหน้าตัด หรือ แรงเค้นเฉือน (SHEAR STRESS) กันบ้างนะครับ
ปล ผมต้องขออภัยเรื่องรูปด้วยนะครับ ผมว่ามันยังไม่ค่อยดีนักเป็นเพราะผมนั่งทำรูปประกอบนี้เพื่ออธิบายให้แก่เพื่อนๆ ได้เข้าใจถึงเรื่องแรงตั้งตั้งฉาก ผมมองว่ามันยังไม่เรียบร้อยเท่าใหร่ ยังไงผมจะขออนุญาตพัฒนาต่อไปในครั้งหน้านะครับ
หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากเพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ
ADMIN JAMES DEAN