สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่านครับ
วันนี้แอดมินจะนำเรื่องข้อดี ข้อเสีย และ ประสิทธิภาพในการใช้งานระหว่างผนังก่อด้วย อิฐมอญ เปรียบเทียบกันกับ อิฐมวลเบา และ อิฐประเภทอื่นๆ มาฝากเพื่อนทุกๆ ท่านนะครับ เรามาเริ่มดูรายละเอียดของผนังก่อกันเลยนะครับ
ผนังก่ออิฐฉาบปูน เป็นผนังชนิดที่มีความแข็งแรง เนื่องจากน้ำหนักของตัวเองมีค่ามาก จึงต้องการโครงสร้างมารองรับ เช่น คาน พื้นหล่อในที่ เป็นต้น ส่วนผนังที่ก่อที่ก่อด้วยอิฐบล็อกนั้น มักจะใช้ทำเป็นรั้วเสียส่วนมาก ส่วนผนังที่ใช้ทำผนังภายนอกและภายในนั้น มักจะนิยมใช้เป็น อิฐมอญ และ อิฐมวลเบา
สำหรับข้อแตกต่างในการใช้งานเปรียบเทียบกันระหว่าง อิฐมวลเบา และ อิฐมอญ เราพอที่จะสามารถจำแนกออกได้ดังในรูปที่แนบมานี้เลยครับ
ผนังก่อด้วย อิฐมอญ ใช้จำนวนก้อนในการก่อประมาณ 120-140 ก้อนต่อการก่อผนัง 1 ตารางเมตร
ผนังก่อด้วย อิฐมวลเบา ใช้จำนวนก้อนในการก่อผนัง 8.33 ก้อน ต่อ 1 ตารางเมตร เพราะขนาดของก้อนจะใหญ่กว่า และ เมื่อใช้จำนวนก้อนที่น้อยกว่าก็จะทำให้การทำงานนั้นทำได้เร็วกว่า
-สาเหตุที่เรามีความรู้สึกว่าผนังที่ก่อด้วย อิฐมอญ มักจะมีความแข็งแรงที่มากกว่าเพราะเกิดจากการที่ใช้ปูนก่อค่อนข้างจะเยอะ
-ส่วนผนังที่ก่อด้วย อิฐมวลเบา นั้นมีความแข็งแรงมากเพียงพอต่อการรับ นน อยู่แล้วครับ โดยตัวก้อนอิฐมวลเบาเอง สามารถที่จะรับน้ำหนักแรงกดได้ดีกว่าอิฐมอญ และ ใช้ปริมาณปูนก่อที่น้อยกว่ามากๆ
-ผนังที่ก่อด้วย อิฐมอญ เราสามารถที่จะทำการก่อและฉาบผนังด้วยปูนก่อและฉาบทั่วๆ ไปได้ รวมถึงใช้อุปกรณ์แบบที่ช่างทั่วๆ ไปมีความรู้ความชำนาญอยู่แล้วได้ เพราะ ว่าผนังชนิดนี้มีการใช้งานกันมานานแล้ว
-ส่วนผนังที่ก่อด้วย อิฐมวลเบา ต้องใช้ปูนก่อและฉาบแบบเฉพาะเนื่องจากตัววัสดุจะมีคุณสมบัติด้านความพรุนที่สูงกว่า ปูนที่ใช้จึงต้องมีส่วนผสมที่จะช่วยให้ผนังมีความทึบน้ำมากกว่าอิฐประเภทอื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องใช้คนละแบบกับที่ใช้ในการก่อผนังอิฐมอญ ช่างที่ไม่เคยงานก่อผนังประเภทนี้ต้องใช้เวลาเรียนรู้สักพัก แต่ก็ทำได้ไม่ยากนัก กล่าวคือถ้าก่ออิฐมอญได้ก็สามารถที่จะทำงานอิฐมวลเบาได้สบายครับ
-ผนังที่ก่อด้วย อิฐมอญ มัักจะไม่เป็นมิตรต่อการออกแบบบ้านในปัจจุบันมากนัก คือ อมความร้อน และ มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นฉนวนความร้อนให้กับอาคาร
-ส่วนผนังที่ก่อด้วย อิฐมวลเบา จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับอิฐมอญ คือ ไม่อมความร้อน และ มีรูพรุน ทำให้มีอากาศอยู่ภายในเป็นฉนวน สามารถที่จะรักษาอุณหภูมิภายในให้เย็นได้ดีกว่า และ ยังเป็นตัวช่วยลดค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศลงได้มากกว่า 15-20%
สำหรับเรื่องการทนไฟของผนังก่ออิฐมอญ และ ผนังก่ออิฐมวลเบานั้น มีปัจจัยเกี่ยวข้องเพิ่มเติมเรื่องของวิธีการก่อผนัง เช่น เสาเอ็นทับหลังเป็นต้น แอดมินจึงยังไม่ขอกล่าวถึง ณ โอกาสนี้นะครับ
ผนังก่ออิฐมอญ มีน้ำหนัก 180 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ผนังก่ออิฐมวลเบา มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
จะเห็นว่าหากใช้อิฐมวลเบาจะทำให้สามารถประหยัดโครงสร้างได้เพราะ นน ของตัวผนังอิฐมวลเบาเองจะน้อยกว่าอิฐมอญถึงประมาณ 2 เท่าตัว หรือ หากไม่ลดโครงสร้างก็จะช่วยเพิ่ม SAFETY FACTOR และ REDUNDANCY ให้กับค่าความสามารถในการรับกำลังของตัวอาคารได้
อิฐมวลเบา มีขนาด และ มิติที่ค่อนข้างแน่นอน และ จำนวนชิ้นในการก่อผนังต่อตารางเมตรที่น้อยกว่าทำให้ สามารถ ทำงานได้ง่ายกว่า ได้ดิ่งได้ฉาก และ ตัววัสดุมีความยืดหดตัวน้อยกว่าทำให้เกิดปัญหาการแตกร้าวที่น้อยกว่า
แต่ข้อควรระวังในการใช้อิฐมวลเบาก็อาจมีบ้าง ยก ตย เช่น
1. การดูดน้ำที่มากขึ้น แต่ การก่อที่ทำการปรับฐานก็สามารถที่จะลดปัญหาดังกล่าวลงได้ ไม่ได้มีประเด็นความน่ากลัวใดๆ
2. เมื่อ นน ของอิฐเองมีความเบา ผู้ใช้งานก็มักจะใช้โครงสร้างที่รองรับมีขนาดและรายละเอียดที่เล็กลง จนบางครั้งถึงแม้ว่าโครงสร้างจะสามารถรับ นน ได้ แต่ ก็มีขนาดและรายละเอียดที่น้อยจนเกินไป คือ มีค่าการเสียรูปของโครงสร้างที่รับ นน ที่มากจนเกินไป จนในที่สุดก็จะทำให้ตัวผนังเองแตกร้าวตามโครงสร้างได้ ทั้งๆ ที่ตัววัสดุเองก็มีคุณสมบัติด้านความยืดหดตัวที่น้อยกว่ากว่าอิฐมอญอยู่แล้ว จึงเป้นเรื่องน่าเสียดายนะครับหากเลือกใช้โครงสร้างที่ไม่ดีเพียงพอเช่นในกรณีตามที่ยก ตย มานี้
เป็นต้น
ในส่วนของห้องน้ำที่มีงานระบบ ก็สามารถที่จะทำการตัดอิฐได้ แต่บางโครงการก็อาจจะใช้อิฐประเภทอื่นเข้าร่วมในการทำงานก็สามารถที่จะทำได้เช่นกัน
อิญมวลเบาที่ดีควรมีวิธีการดูอย่างไร ?
- ดูที่ชั้นคุณภาพ อิฐมวลเบา โดยวัดตามกำลังและความหนาแน่น ของอิฐมวลเบา ในประเทศไทยมีมาตรฐานที่ได้ มอก. 1505-2541 คือชั้นคุณภาพ G2 G4 และ G6 ซึ่งชั้นคุณภาพ ที่มีตัวเลขมากกว่า หมายถึง ว่า อิฐมวลเบานั้นมีค่ากำลัง และ ความหนาแน่นที่มากกว่า ทำให้กันเสียงและทนไฟ ไม่แตกหักง่าย และ สามารถยึดเจาะติดได้ดีกว่า ซึ่งความหนาแน่นที่มากกว่านี้ก็จะทำให้อิฐมวลเบามีรูพรุนที่น้อยกว่า และ มีน้ำหนักที่มากกว่าตามมาด้วย
ปล ข้อดีของอิฐมวลเบาที่มีรูพรุนที่มากกว่าก็ คือ สามารถที่จะเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่านั่นเอง
- ดูที่ความหนาของ อิฐมวลเบา ตามมาตรฐาน มอก. อิฐมวลเบาจะมีขนาดความกว้างคูณยาวคือ 20 เซนติเมตร คูณ 60 เซนติเมตร แต่จะมีความหนาต่างๆ กันโดยมีความหนาที่ขนาดบางสุด คือ 7.5 เซนติเมตร และความหนา 10 12.5 15 และ 20 เซนติเมตรตามลำดับ ตามที่ระบุเอาไว้ใน มอก.
ตามท้องตลาดจะมีขนาดความหนา 7 เซนติเมตร ด้วย แต่ ไม่มีอยู่ใน มอก. ความหนาขนาดนี้เหมาะกับใช้งานที่มักไม่ค่อยได้มาตรฐาน วงกบ หรือ การปรับปรุง การกั้นห้องเพิ่ม เพราะ เสียงอาจลอดผ่านมาได้มากกว่าปกติ
ดังนั้นความหนาของอิฐมวลเบาที่มากกว่าจะช่วยกันเสียง และ เก็บอุณหภูมิได้มากกว่า และ ก็กันไฟได้นานกว่าด้วย
โดยขนาดที่อยากแนะนำให้ใช้สำหรับงานทั่วไป คือ ขนาดความหนา 10 เซนติเมตร
ปัญหาการแตกร้าวของการก่ออิฐมวลเบาที่พบบ่อยเกิดจากอะไร
1. ก่อไม่ได้ความเยื้องตามมาตรฐานกำหนด การก่อควรให้มีเยื้องไม่น้อยกว่า สิบห้าเซนติเมตร
2. ป้ายปูนไม่เต็ม มีช่องแสงผ่าน
3. ใช้ปูนก่อปูนฉาบ ผิดประเภท ใช้เครื่องมือผิดประเภทเพราะติดความเคยชินจากการก่ออิฐมอญ
4. ติดเหล็กหนวดกุ้งในทุกช่วงความสูงของอิฐมวลเบาจะช่วยลดรอยแตกร้าวจากการสั่นสะเทือน และ การหดและขยายตัวที่เกิดจากการใช้อิฐมวลเบาได้
5. การออกแบบให้โครงสร้างที่รองรบ นน อิฐมวลเบาที่ไม่เหมาะสม เช่น สามารถรับกำลังได้ แต่ มีค่าการเสียรูปที่มากจนเกินไป เป็นต้น
ในท้ายที่สุดนี้แอดมินอยากจะฝากเอาไว้นิสนึงว่า ในการก่อสร้างใดๆ เราจะเลือกใช้ระบบผนังใดๆ ก็ตามแต่ ขอเพียงเรามีความรู้ความเข้าใจถึงคุณสมบัติพื้นฐานของอิฐแต่ละประเภทอย่างดี อย่างเพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการช่วยให้เพื่อนๆ สามารถที่จะตัดสินใจเลือกใช้ประเภทของอิฐให้มีความเหมาะสมกับงานของเพื่อนๆ ได้แล้วนะครับ
CREDIT: แอดมินต้องขอขอบคุณสำหรับเนื้อหาบางส่วนที่ได้นำมาขยายความจาก FACEBOOK แฟนเพจ CHANGMUNS ด้วยนะครับ
ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่ผมนำมาฝากเพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชนต่อตัวท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ
ADMIN JD @ ภูมิสยามไมโครไพล์